ความเปลี่ยนแปลงจากการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรวัดน้ำ (ตอนที่ 2)
บทความของเรา
จากเดิมที่มีการแบ่งระดับความมีประสิทธิภาพ ความแม่นยำของมาตรวัดน้ำ หรือที่เรียกกันว่า ความเที่ยง ออกเป็น 4 ระดับ โดยเรียกแต่ละระดับเป็นคลาส (Class) A B C D โดยคลาส D มีความละเอียดในการวัดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้มิเตอร์น้ำนั้นจะมีน้ำปริมาณน้อยไหลผ่านอย่างแผ่วเบา มาตรวัดน้ำคลาส D ก็ยังสามารถวัดปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเที่ยงตรง ซึ่งการแบ่งระดับความเที่ยงของมาตรวัดน้ำนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามประสิทธิภาพของแต่ละคลาส อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม นั่นคือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดชนิดและลักษณะของมาตรวัดปริมาตรน้ำ รายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด พ.ศ. 2561 ทำให้มีการเปลี่ยนคำจำกัดความ ความหมาย ตลอดจนค่าต่างๆ ที่ได้รับการบัญญัติขึ้นใหม่ ตาม ISO 4064 และ พระราชบัญญัติชั่งตวงวัด (สามารถอ่านได้จาก บทความเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงจากการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรวัดน้ำ (ตอนที่ 1) ”) รวมไปถึงชั้นความเที่ยง หรือ Class ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
1. คำจำกัดความของชั้นความเที่ยง
ตามคำจำกัดความและความหมายเดิม ชั้นความเที่ยงหรือ Metrological Classes คือ การกำหนดชั้นความเที่ยงของการวัด ของมาตรวัดปริมาตรน้ำตามสิ่งต่อไปนี้
- ค่าอัตราการไหลระบุ (Qn หรือ Qp)
- ค่าอัตราการไหลต่ำสุด (Qmin)
- ค่าอัตราการไหลเปลี่ยนช่วง (Qt)
ซึ่งสำหรับช่วงการไหลข้างต่ำ (Qn to Qt) ให้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่ากับร้อยละ 5 ของปริมาตรที่ทดสอบ และ ช่วงการไหลข้างสูง (Qt to Qmax)ให้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่ากับร้อยละ 2 ของปริมาตรที่ทดสอบ
ตามคำจำกัดความและความหมายใหม่ ชั้นความเที่ยงหรือ Accuracy Class คือ การกำหนดอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด เทียบกับปริมาตรที่ทดสอบของมาตรวัดน้ำ ดังนี้
2.การกำหนดชั้นความเที่ยง
จะมีการแบ่งชั้นความเที่ยงเป็นชั้นหนึ่ง หรือชั้นสองเท่านั้น ซึ่งได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า มาตรวัดน้ำที่มีอัตราการไหลสูงสุดตั้งแต่ 100 ลบ.ม. / ชม. ขึ้นไป (หรือ เป็นมาตรวัดน้ำที่มีขนาด 3 นิ้วขึ้นไป) ให้มีความเที่ยงเป็นชั้นหนึ่ง หรือชั้นสอง
3.อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด
สำหรับการตรวจสอบมิเตอร์น้ำที่ใช้งานแล้ว ให้ใช้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดคิดเป็นสองเท่าของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับการให้คำรับรองชั้นแรก
4.อัตราการไหลสูงสุด
อัตราการไหลสูงสุด หรือ Q3 เป็นค่าใดค่าหนึ่ง (หรือสูงกว่าหรือต่ำกว่า) ดังต่อไปนี้
….1 1,6 2,5 4 6.3
100 16 25 40 63
100 160 250 400 630
1000 1600 2500 4000 6300…
5.อัตราส่วนระหว่างอัตราการไหลสูงสุด (Q3)กับอัตราการไหลต่ำสุด(Q1) หรือ Q3/Q1 จะเท่ากับค่า R
ซึ่งจะเป็นค่าใดค่าหนึ่ง (หรือสูงกว่า) ดังต่อไปนี้
10 12,5 16 20 25 31,5 40 50 63 80
100 125 160 200 250 315 400 500 630 800…
6.อัตราส่วนระหว่างอัตราการไหลเปลี่ยนช่วง (Q2) กับอัตรา การไหลต่ำสุด (Q1) เท่ากับ 6
7.อัตราส่วนระหว่างอัตราการไหลทนทานสูงสุด (Q4) กับอัตราการไหลสูงสุด (Q3) เท่ากับ 25
8.การทนความดัน
จากคำจำกัดความเดิม การทนความดัน (Maximum admissible working Pressure) ของมาตรวัดน้ำ ต้องทนความดันได้อย่างน้อย 1000 กิโลพาสคัล หรือ 10 บาร์ โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของมิเตอร์น้ำลดลง ไม่ก่อให้เกิดน้ำรั่วซึม และไม่ทำให้รูปร่างของมาตรวัดน้ำเปลี่ยนไป
ในขณะที่คำจำกัดความใหม่ ได้กำหนดไว้ว่า มาตรวัดน้ำขนาดน้อยกว่า 50 มม. ต้องทนความดันได้อย่างน้อย 1000 กิโลพาสคัลหรือ 10 บาร์ และมาตรวัดน้ำขนาดตั้งแต่ 50 มม. ขึ้นไป ต้องทนความดันได้อย่างน้อย 600 กิโลพาสคัล หรือ 6 บาร์ โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของมิเตอร์น้ำลดลง ไม่ก่อให้เกิดน้ำรั่วซึม และไม่ทำให้รูปร่างของมาตรวัดน้ำเปลี่ยนไป
9.ความดันสูญเสีย (Pressure loss หรือ head loss)
ตามความหมายเดิม มาตรวัดน้ำต้องมีความดันสูญเสียของน้ำไม่เกิน 25 กิโลพาสคัลที่อัตราการไหลต่ำสุด (0.25 บาร์) และไม่เกิน 100 กิโลพาสคัลที่อัตราการไหลสูงสุด (1 บาร์ )
ตามความหมายใหม่ มาตรวัดน้ำต้องมีความดันสูญเสียตกคร่อมไม่เกิน 63 กิโลพาสคัล (0.63 บาร์) เมื่อใช้งานระหว่างอัตราการไหลต่ำสุด (Q1) จนถึงอัตราการไหลสูงสุด (Q3)
10.มาตรวัดน้ำต้องมีการแสดงรายละเอียดต่อไปนี้
- ชื่อ หรือ เครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายของมิเตอร์น้ำ
- รุ่น / ปีที่ผลิต / เครื่องหมายแสดงทิศทางของกระแสน้ำของมิเตอร์น้ำ
- เลขลำดับประจำเครื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
- ค่าความดันใช้งานสูงสุด ถ้ามีค่ามากกว่า 1000 กิโลพาสคัล
- ชั้นความเที่ยงของการวัด เป็นชั้นหนึ่ง หรือชั้นสอง
- อัตราการไหลสูงสุด (Q3)
- อัตราการไหลต่ำสุด (Q1) หรือ อัตราส่วนระหว่างอัตราการไหลสูงสุดกับอัตราการไหลต่ำสุด (Q3/Q1 หรือ R)
สงวนลิขสิทธิ์ ทั้งบทความ ภาพถ่ายทั้งหมด เป็นของ บริษัท ยูโร-โอเรียนเตล เทรดดิ้ง จำกัด
ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
เผยแพร่ครั้งแรกใน https://www.eurooriental.co.th/
15 พฤษภาคม 2019
Copyright (c) 2019 Text and Pictures
Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
First publish in https://www.eurooriental.co.th/
May 15th,2019